“ลำไส้กลืนกัน” โรคอันตรายของลูกน้อย สุขภาพดีก็เป็นได้

โรคลำไส้กลืนกันเป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า พบได้บ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 4-12 เดือน

 

และมักเกิดขึ้นในเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงดี ในปัจจุบันไม่พบสาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้เกิดโรคนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้กลืนกันจะมีอาการโดยเฉียบพลัน โดยเริ่มจากอาการปวดเกร็ง ร้องไห้งอแงกระสับกระส่าย อันเนื่องมาจากการปวดท้อง นอกจากนั้นก็มีอาการอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งในตอนแรกจะเป็นนมหรืออาหารที่ทานเข้าไป ไม่นานนักอาการปวดท้องก็จะสงบลง ผู้ป่วยมักจะกลับมาอยู่ในสภาพปกติอยู่ชั่วขณะ จนกระทั่งมีอาการปวดท้องขึ้นมาอีกพร้อมกับอาการอาเจียน ซึ่งในระยะหลังจะมีสีน้ำดีปนเนื่องจากมีการอุดตันของลำไส้ อาการปวดท้องจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ  เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้นก็จะเริ่มมีการขาดเลือด ทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักมีลักษณะเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูก ในระยะหลังผู้ป่วยมักจะมีไข้และมีอาการซึมลง

 

การตรวจร่างกายอาจคลำพบก้อนซึ่งมีลักษณะคล้ายไส้กรอกภายในช่องท้อง การวินิจฉัยโรคลำไส้กลืนกันสามารถกระทำได้โดย วิธี กล่าวคือ การทำอัลตราซาวน์ (ultrasound) ซึ่งสามารถตรวจพบก้อนลำไส้กลืนกัน และการตรวจด้วยการสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี (barium enema) ซึ่งนอกจากจะให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างแน่นอนแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคลำไส้กลืนกันด้วย